วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

มหาปรินิพพานสูตร ครั้งที่ ๙ ภิกขุอปริหานิยธรรม (ชุดที่ ๓)

ภิกขุอปริหานิยธรรม (ชุดที่ ๓)
๑๓๘. ‘‘อปเรปิ โว, ภิกฺขเว, สตฺต อปริหานิเย ธมฺเม เทเสสฺสามิ เป.… ‘‘ยาวกีวญฺจ, ภิกฺขเว, ภิกฺขู สทฺธา ภวิสฺสนฺติเป.หิริมนา ภวิสฺสนฺติโอตฺตปฺปี ภวิสฺสนฺติพหุสฺสุตา ภวิสฺสนฺติ       อารทฺธวีริยา ภวิสฺสนฺติอุปฏฺฐิตสฺสตี ภวิสฺสนฺติปญฺญวนฺโต ภวิสฺสนฺติ, วุทฺธิเยว, ภิกฺขเว, ภิกฺขูนํ ปาฏิกงฺขา, โน ปริหานิฯ
๑๓๘. ภควา พระผู้มีพระภาค อาห ตรัสแล้ว อิติ ว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อหํ เราตถาคต         เทเสสฺสามิ จักแสดง ธมฺเม ซึ่งธรรมทั้งหลาย อปริหานิเย อันสร้างความไม่เสื่อม  สตฺตอปเรปิ แม้อื่น โว แก่พวกเธอ,  ตุมฺเห พวกเธอ สุณาถ จงฟัง ตํ ธมฺมํ ซึ่งธรรมนั้น,  มนสิกโรถ จงใส่ใจ ตํ ธมฺมํ        ซึ่งธรรมนั้น สาธุกํ อย่างดี,  อหํ เรา ภาสิสฺสามิ  จักกล่าว  ดังนี้.  เต ภิกฺขู ภิกษุเหล่านั้น ปจฺจสฺโสสุํ       รับสนองพระดำรัสแล้ว ภควโต ต่อพระผู้มีพระภาค อิติ ว่า ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เอวํ พระเจ้าข้า” ดังนี้. ภควา พระผู้มีพระภาค อโวจ ตรัสแล้ว เอตํ ซึ่งพระดำรัสนั้น อิติ ว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   อนึ่ง ยาวกีวํ  ตราบใด  ภิกฺขู   ภิกษุทั้งหลาย ภวิสฺสนฺติ จักเป็น สทฺธา ผู้มีศรัทธา[1].... ภวิสฺสนฺติ    จักเป็น หิริมนา มีใจประกอบด้วยความละอาย[2] ..... ภวิสฺสนฺติ จักเป็น โอตฺตปฺปี มีความสะดุ้งกลัว .... ภวิสฺสนฺติ จักเป็น พหุสฺสุตา ผู้มีสุตะมาก[3] ....  ภวิสฺสนฺติ จักเป็น อารทฺธวีริยา ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว[4]... ภวิสฺสนฺติ จักเป็น อุปฏฺฐิสฺสติ ผู้มีสติปรากฏ[5] .... ภวิสฺสนฺติ จักเป็น ปญฺญวนฺโต ผู้มีปัญญา[6] ...  ภิกฺขเว  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตาวกีวํ ตราบนั้น วุทฺธิ เอว  ความเจริญ นั่นเทียว  ปาฏิกงฺขา  อันภิกษุพึงหวังได้, ปริหานิ ความเสื่อม โน ปาฏิกงฺขา อันภิกษุไม่พึงหวัง

ยาวกีวญฺจ, ภิกฺขเว, อิเม สตฺต อปริหานิยา ธมฺมา ภิกฺขูสุ ฐสฺสนฺติ, อิเมสุ จ  สตฺตสุ อปริหานิเยสุ ธมฺเมสุ ภิกฺขู สนฺทิสฺสิสฺสนฺติ, วุทฺธิเยว, ภิกฺขเว, ภิกฺขูนํ ปาฏิกงฺขา, โน ปริหานิฯ
 ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ยาวกีวํ ตราบใด ภิกฺขู ภิกษุทั้งหลาย ธมฺมา ธรรมทั้งหลาย อปริหานิยา อันเป็นเหตุแห่งความไม่เสื่อม สตฺต เจ็ด อิเม เหล่านี้ ฐสฺสนฺติ จักยังดำรงอยู่  ภิกฺขูสุ ในภิกษุทั้งหลาย,  ภิกฺขู ภิกษุทั้งหลาย สนฺทิสฺสนฺติ จักเห็นดีร่วมกัน ธมฺเมสุ ในธรรมทั้งหลาย อปริหานิเยสุ อันกระทำความไม่เสื่อม สตฺเตสุอิเมสุ เหล่านี้,  ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ตาวกีวํ ตราบนั้น วุทฺธิ เอว ความเจริญ นั่นเทียว ปาฏิกงฺขา อันภิกษุพึงหวังได้, ปริหานิ ความเสื่อม     โน ปาฏิกงฺขา อันภิกษุไม่พึงหวัง.





[1] สทฺธา นี้เป็นอัสสัตถิตัทธิต หมายถึง ผู้มีศรัทธาสมบูรณ์. มีวิ.ว่า สทฺธา เอเตสํ อตฺถีติ สทฺธา ภิกษุชื่อว่า สทฺธา เพราะมีศรัทธา (ที.ม.ฎี.๑๓๘).  ถ้าคัมภีร์อรรถกถาฎีกา อธิบายบทใดด้วยคำว่า สมฺปนฺน ยุตฺต เป็นต้น ที่บ่งถึงเพียบพร้อม แสดงว่าบทนั้นเป็นอัสสัตถิตัทธิต ดังในอรรถกถาอธิบายบทนี้ว่า สทฺธาสมฺปนฺนา สมบูรณ์ด้วยศรัทธา.
ศรัทธา แบ่งออกเป็น ๔ คือ อาคมนียศรัทธา, อธิคมศรัทธา, ปสาทศรัทธา และ โอกัปปนศรัทธา. อาคมนียศรัทธา คือ ศรัทธาที่เป็นของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ (ผู้เกี่ยวข้องในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) (ที.ม.อ.๑๓๘)  เพราะมีศรัทธาที่มาจากปฏิปทาที่บรรลุ. ก็ศรัทธาชนิดนี้นั้น มีความพิเศษอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นการหยั่งใจเชื่อต่อวัตถุควรเชื่ออย่างไม่ผิดพลาด โดยเว้นการแนะนำจากบุคคลอื่น. อธิคมศรัทธา คือ ศรัทธาที่เป็นของพระอริยบุคคลทั้งหลาย เพราะเป็นศรัทธาที่ได้ด้วยการแทงตลอดอริยสัจจ์ (บรรลุมรรคผล) มีศรัทธาของท่านสูรัมพัฏฐอุบาสกและท่านสุปปพุทธิกุฏฐิเป็นตัวอย่าง (ที.ปา.อ.๑๑๘; ธ.ป.อ.สุปฺปพุทฺธกุฏฺฐิวตฺถุ; ขุ.อุ.อ.๔๓). ปสาทศรัทธา คือ การเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในพระรัตนตรัย เพราะทันทีที่ได้ยินคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นต้นโดยนัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นต้น  ศรัทธาชนิดนี้มีศรัทธาของพระเจ้ามหากัปปินะเป็นตัวอย่าง (อํ.เอก.อ.๒๓๑; ธ.ป.อ. มหากปฺปินตฺเถรวตฺถุ; ขุ.เถร.อ. ๒.มหากปฺปินตฺเถรคาถาวณฺณนา). โอกัปปนศรัทธา คือ การฝังใจเชื่อลงไปอย่างเด็ดขาดว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนี้”. ศรัทธาชนิดนี้ มีศรัทธาของพระวักกลิเป็นตัวอย่าง. ภิกษุผู้มีศรัทธานี้ หมายถึงศรัทธา ๒ ชนิดหลังคือ ปสาทศรัทธาและโอกัปปนศรัทธา. เพราะปสาทศรัทธามีการไม่ถูกผู้อื่นชักจูงเป็นธรรมดา จึงเลื่อมใสได้แม้ด้วยเหตุเพียงการได้ฟังมา, ส่วนโอกัปปนศรัทธา ครั้นหยั่งเข้าไปสู่สิ่งที่ควรศรัทธาแล้วย่อมเป็นไปเหมือนกับได้ทำให้ประจักษ์ว่า “สิ่งนี้เป็นอย่างนี้”. บุคคลผู้มีโอกัปปนศรัทธาย่อมทำเจติยวัตรหรือโพธิยังคณวัตร, ย่อมบำเพ็ญวัตรทั้งปวงมีอุปัชฌายวัตรและอาจริยวัตรเป็นต้น. (เรียบเรียงจากคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาที.ม.อ.และที.ม.ฎี.๑๓๘)
[2] หิริมนา หมายถึง ผู้มีจิตประกอบด้วยหิริ คือ ความละอาย ซึ่งมีลักษระที่รังเกียจบาป. ต่างจาก โอตตัปปี คือ ผู้ประกอบด้วยโอตตัปปะ ซึ่งมีลักษณะที่หวาดเกรงต่อบาป.
[3] พหุสฺสุตา  เป็นพหุพพีหิสมาส หมายถึง ภิกษุผู้ได้ฟังมากซึ่งปริยัติธรรมคือพระไตรปิฎกมีสุตตะและเคยยะเป็นต้น วิ.ว่า (สา ปริยตฺติ) เยน พหุ สุตา, โส พหุสฺสุโต  พระปริยัตินั้น อันภิกษุใดฟังแล้ว เหตุนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่า พหุสุตะ มีปริยัติคือพระไตรปิฎกอันฟังแล้วมาก (ที.ม.อ.๑๓๘) หรือ  พหุ สุตํ สุตฺตเคยฺยาทิ เอเตนาติ พหุสฺสุโต พระปริยัติมีสุตตะและเคยยะเป็นต้น อันภิกษุนี้ฟังแล้วมาก เหตุนั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่า พหุสุตะ (ที.ม.ฎี.๑๓๘). คำว่า สุตะ (ฟังแล้ว) ในคำว่า พหุสุตะนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เพราะยังหมายถึงกิจที่พึงทำต่อปริยัตินั้นอีกหลายประการคือ การทรงจำ การสะสม การหมั่นสอบถาม การเอาใจใส่ไม่ขาด และการพิจารณาด้วยปัญญา. อีกนัยหนึ่ง เพราะการทรงจำเป็นต้นเหล่านั้น ล้วนแต่มีการฟังเป็นพื้นฐาน ดังนั้น การทรงจำเป็นต้นก็ควรจะสงเคราะห์เข้าในคำว่า พหุสุตะ นี้ได้.  (ที.ม.ฎี.๑๓๘)
คัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงพหุสุตะไว้ ๒ พวก คือ ปริยัตติพหุสุตะ (ผู้ได้ฟังมากซึ่งพระปริยัติกล่าวคือพระไตรปิฎก) และ ปฏิเวธพหุสุตะ (ผู้มีการแทงตลอดสัจจะ) (ที.ม.อ.๑๓๘). สำหรับผู้มีปฏิเวธก็เป็นพหุสุตะได้เช่นกัน เพราะปฏิเวธก็เป็นความสำเร็จกิจแห่งพหุสุตะนอกนี้ดังจะกล่าวต่อไปได้เช่นกัน. แต่ก็เพราะทรงประสงค์เอาพาหุสัจจะที่นำการแทงตลอดสัจจะมาให้เท่านั้น เหตุนั้น ปริยัตติพหุสสุตะจึงเป็นที่ประสงค์เอาในที่นี้.
แม้ปริยัตติพหุสุตะ มี ๔ ประเภท คือ
๑) นิสสยมุจจนกพหุสุตะ ผู้พ้นจากนิสัย. ภิกษุผู้นิสัยมุจจนกะมีพรรษา ๕ โดยอุปสมบท เล่าเรียนพระไตรปิฎกเพียงส่วนหนึ่ง สำหรับการเที่ยวไปในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งอย่างเป็นอิสระมิจำเป็นต้องอยุ่ในสำนักของพระอุปัชฌาย์และอาจารย์  เพื่อเป็นเครื่องรักษาตนและอนุเคราะห์แก่บริษัทเท่านี้ก็พอ คือ
- มาติกา ๒ (ภิกขุและภิกขุนีปาฏิโมกข์)
- พระสูตร ๔ ภาณวาร (ที่มาในคัมภีร์ภาณวาร)
- กถามรรค คำอธิบายที่มาของพระสูตร มิได้กล่าวบทพระสูตร เพื่อกล่าวธรรมเบ็ดเตล็ดแก่เหล่าชนผู้มาหา
- คาถาอนุโมทนา เพื่ออนุโมทนาในสังฆภัตงานมงคลและอวมงคล.
- เรียนวินิจฉัยกรรมและไม่ใช่กรรม เพื่ออุโบสถและปวารณา
- เรียนกัมมัฏฐานทั้งสองอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถึงพระอรหัต เพื่อเจริญสมณธรรม.
๒) ปริสุปัฏฐากพหุสุตะ ผู้สามารถให้บริษัท (ภิกษุบริษัท) อุปัฏฐาก. ภิกษุผู้ปริสูปัฏฐาปกะ มีพรรษา ๑๐ โดยอุปสมบท ย่อมเรียนพระไตรปิฎกส่วนหนึ่งเช่นกัน แต่มากกว่านิสสยมุจจนกะ เพื่อเป็นทิสาปาโมกข์ คือ เป็นประธานแก่ภิกษุในทิศ คือ
- เรียนวิภังค์ทั้ง ๒,  วินิจฉัยกรรม-มิใช่กรรมและขันธกวัตร เพื่อแนะนำบริษัทในอภิวินัย
- ถ้าเป็นผู้สวดมัชฌิมนิกาย เรียนมูลปัณณาสก์, ผู้สวดทีฆนิกายเรียนมหาวรรค, ผู้สวดสังยุตตนิกายเรียน ๓ คัมภีร์คือ สคาถวรรค นิทานวรรค สฬายตนวรรค, ผู้สวดอังคุตรนิกาย เรียนติกนิบาตเป็นต้นไป, ผู้สวดชาตก เรียนชาดก พร้อมอรรถกถา, ผู้กล่าวธรรมบท เรียนธรรมบทพร้อมทั้งนิทาน เหล่านี้เพื่อแนะนำบริษัทในอภิธรรม [อภิธรรมในที่นี้ไม่ใช่อภิธรรมปิฎก แต่เป็นพระสุตตันตปิฎกนั่นแหละที่แยกจากกันและกัน (ปาจิตติยโยชนา).
๓) ภิกขุโนวาทกพหุสุตะ พหุสุตะผู้สั่งสอนภิกษุนี.  ในกรณีที่จะเป็นภิกษุผู้สอนนางภิกษุนี ต้องมีความช่ำชอง
ในปิฎกทั้ง ๓ พร้อมทั้งอรรถกถา แต่ถ้าไม่สามารถดังนั้น สามารถเรียนดังนี้
- เรียนอรรถกถาแห่งนิกายหนึ่งในบรรดานิกาย ๔ ให้ชำนาญก็ได้.
- เรียนอรรถกถาแห่งพระอภิธรรมปิฎกใน ๔ คัมภีร์ต้นให้ชำนาญก็ได้
- แต่พระวินัยปิฎก ต้องเรียนให้ชำนาญทั้งบาฬีและอรรถกถา.
 (วิ.ปาจิตฺ.อ.๑๔๗ โอวาทสิกขาปทวัณณนา)
๔) สัพพัตถกพหุสุตะ สามารถแสดงอรรถในปริยัติธรรมได้ทั้งหมด. พหุสุตะเช่นนี้ มิได้ทรงปริยัติไว้เป็นส่วนๆเหมือนกับ ๓ พวกแรก เพราะมีความเป็นพหุสะตะที่กล่าวอรรถทั้งปวงในพระไตรปิฎกได้. กรณีนี้มีพระอานนทเถระเป็นตัวอย่าง. (ที.ม.ฎี.๑๓๘)
คำว่า ภิกษุจักเป็นพหุสุตะ  นี้หมายถึง พหุสุตะ๔ ทั้ง ๔ ประเภทเหล่านั้น เพราะเป็นผู้ตั้งมั่นดีแล้วในปริยัติสัทธรรม ที่เป็นรากฐานของปฏิบัติสัทธรรมและปฏิเวธสัทธรรม.
อนึ่ง คำว่า สุตะ ในคำว่า พหุสุตะ ในที่นี้ (อรรถกถามหาวรรค ทีฆนิกาย) หมายถึง กิริยาการฟัง แต่ในอรรถกถาวินัยปิฎกหมายถึง พระปริยัติ เพราะอรรถว่า อันบุคคลผู้ใคร่ความหลุดพันพึงเล่าเรียน (สารัตถ.วินย.ฎี. ๑๔๗) อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบทหมายถึง ภิกษุผู้มีการฟังปริยัติมาก หรือ มีพระปริยัติมากโดยการเรียน และทรงจำได้เป็นต้น.
[4] คำว่า ปรารภความเพียร หมายถึง ถือไว้มิให้ตกไป, ภิกษุผู้มีการปรารภเพียรทั้งทางกายและใจชื่อว่า อารทฺธวีริยา. ปรารภความเพียรทางกาย หมายถึง ลดการคลุกคลีทางกายแล้วเป็นผู้อยู่เพียงผู้เดียว เนื่องด้วยเหตุแห่งการปรารภความเพียร ๘ (อารัมภวัตถุ) ในอิริยายถทั้ง ๔. ปรารภความเพียรทางใจ หมายถึง ลดการคลุกคลีทางใจ แล้วเป็นผู้อยู่คนเดียวเนื่องด้วยการเข้าสมาบัติ, ข่มกิเลสในฐานะที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด คือ ไม่ยอมให้กิเลสที่เกิดในขณะเดินมาถึงขณะยืน, ที่เกิดขึ้นในขณะยืน ก็ไม่ยอมให้ถึงขณะนั่ง, ที่เกิดขึ้นในขณะนั่ง ก็ไม่ยอมให้ถึงขณะนอน. (ที.ม.อ.๑๓๘)
[5] คำว่า มีสติปรากฏ หมายถึง มีสติระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำนานแล้วเป็นต้น. ข้อนี้เป็นเหตุแห่งความเจริญเนื่องจากว่า ผู้มีสติอันสามารถระลึกเหตุการณ์ย้อนหลังเป็นต้นได้อย่างไม่หลงลืมนี้ จะถึงความบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ภาวนา โดยไม่ยาก (ที.ม.อ,/ฎี ๑๓๘). คัมภีร์อังคุตรฎีกากล่าวว่า สติในที่นี้ คือ การระลึกถึงการทำทางกายกล่าวคือการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติ อาทิ เจติยังคณวัตรเป็นต้นที่ตนก็ดี ผู้อื่นก็ดี ทำไว้นานแล้ว, การระลึกวาจาที่เป็นไปเนื่องด้วยการแสดงธรรม การอนุโมทนา เป็นต้น. ก็การที่ระลึกถึงกายกรรมและวจีกรรมอย่างนี้  ชื่อว่า ทำสติสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น เพราะเป็นการระลึกอย่างนี้ว่า นามรูปเหล่านี้ เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ดับไปแล้วอย่างนี้. สติที่ทำสัมโพชฌงค์ให้ตั้งขึ้นนี้แหละที่ประสงค์เอาในที่นี้.(อํ.ฎี.สตฺตก.วิตถตสูตร๑๔) และเป็นธรรมประกอบของวิปัสสนา ดังจะกล่าวถัดไป.
[6] ผู้มีปัญญา คือมีปัญญาสามารถกำหนดความเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕. พระผู้มีพระภาคตรัสสัมมาสติที่เป็นธรรมประกอบของวิปัสสนาและวิปัสสนาปัญญาของภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาด้วยบทว่ามีสติปรากฏและมีปัญญา. (ที.ม.อ.๑๓๘)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น